วัดโกรกกราก (Wat Krok Krak)

วัดโกรกกราก (Wat Krok Krak)

วัดโกรกกราก (Wat Krok Krak) เป็นวัดสังกัดมหานิกาย ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของ องค์พระประธานสวมแว่นดำ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญ นอกเหนือไปจากพุทธลักษณะอันงดงาม วัดตั้งอยู่ที่ถนนธรรมคุณากร (Thammakhunakorn Road) ในเขตเทศบาล ของจังหวัดสมุทรสาคร ในประเทศไทย

สันนิษฐานว่าเป็น วัดเก่ามีมาแต่โบราณ จากการตั้งอยู่ใน ชุมชนเก่าแก่ของชาวจีน ที่เรียกว่าโคกกอก แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่า วัดถูกสร้างขึ้นเมื่อใด สำหรับชื่อของวัดนั้น ปรากฎครั้งแรกในจดหมายเหตุ การเสด็จประพาสต้นของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ถูกบันทึกโดย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

การเสด็จประพาสต้น ร.ศ. 123 (พ.ศ. 2447) ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการเสด็จทางชลมารค เริ่มจากพระราชวังบางปะอิน ไปจังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 โดยผ่านจังหวัดต่างๆ ตามเส้นทางแม่น้ำ แล้วเสด็จโดยทางรถไฟ จากบางปะอินกลับสู่พระนคร เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2447

ในการเสด็จประพาสต้นครั้งนี้ ทรงประพาสสถานที่ต่าง ๆ มากมายหลายแห่ง รวมถึงในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 ทรงเสด็จโดยเรือ จากปากน้ำบ้านแหลม ผ่านปากน้ำแม่กลอง มาถึงแม่น้ำท่าจีน โดยประพาสตลาดท่าฉลอม และเสวยพระกระยาหารค่ำ ที่วัดโกรกกราก (Wat Krok Krak)

ในพระอุโบสถของวัด เป็นที่ประดิษฐานของ พระประธานที่มีชื่อเรียกว่า หลวงพ่อปู่ พระพุทธรูปศิลาแลงปางมารวิชัย ที่มีพุทธลักษณะอันงดงาม ในยุคสุโขทัยตอนปลาย ตามตำนานท้องถิ่นเชื่อว่า องค์พระเคยประดิษฐาน อยู่ที่วัดช่องสะเดา ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน เป็นวัดร้างเก่าแก่ที่ปรักหักพัง

ต่อมาชาวรามัญบ้านกำพร้า ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสององค์ ที่เคยประดิษฐานในวัด เป็นพระพุทธรูปเนื้อสำริด และพระพุทธรูปเนื้อศิลาแลง ด้วยการล่องเรือมาตามแม่น้ำท่าจีน เมื่อเรือใกล้ถึงบริเวณด้านหน้า ของวัดโกรกกราก เกิดปรากฏการณ์ลมพายุฝนตกหนัก ทำให้ไม่สามารถล่องเรือต่อไปได้

จึงจอดเรือเพื่อหลบฝน อยู่ที่ริมคลองข้างวัด พร้อมกับยกพระศิลาแลงขึ้นสู่ฝั่ง เพื่อไม่ให้ถูกน้ำฝนเซาะ เมื่อลมฝนสงบแล้ว จึงยกพระศิลาแลงลงเรือ เพื่อจะล่องต่อไป แต่ปรากฏว่าไม่สามารถยกองค์พระขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม

หนึ่งในชาวรามัญบ้านกำพร้า ที่อยู่ในเหตุการณ์ ได้อธิฐานว่า หากพระศิลาแลง จะอยู่ที่วัดโกรกกรากแห่งนี้ ขอให้สามารถยกองค์พระขึ้น หลังคำอธิษฐานจึงสามารถยกขึ้นได้ และอัญเชิญองค์พระ ไปประดิษฐานเป็น พระประธานในอุโบสถ นับแต่นั้นจวบจนถึงปัจจุบัน

หลวงพ่อปู่ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับ การเคารพนับถือ และความเลื่อมใสศรัทธา มาอย่างยาวนาน เมื่อครั้งเกิดโรคตาแดงระบาด ซึ่งในขณะนั้นความเจริญ ทางการแพทย์ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ชาวบ้านจึงพากันมาบนบานศาลกล่าว ถ้าตาหายเจ็บหายแดง จะนำแผ่นทองมาปิด ที่ดวงตาขององค์หลวงพ่อปู่

หลังจากการแพร่ระบาดสิ้นสุดลง ชาวบ้านจึงพากันนำแผ่นทองมาปิดที่ตา จนเกิดความไม่สวยงาม ต่อมาพระครูธรรมสาคร (กรับ ญาณวฑฺฒโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดโกรกกราก และเจ้าคณะตำบลมหาชัย นำแว่นตาดำมาใส่ให้หลวงพ่อปู่ ทำให้ชาวบ้านถวายแว่นตาดำ แทนการปิดทอง นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ด้วยเหตุการณ์ที่คนร้าย เจาะช่องท้องหลวงพ่อปู่ เพื่อค้นหากรุพระ พระพุทฑรูปถูกบูรณะอุดรอยเจาะ ด้วยทองคลุกยางรัก และทำพิธีบวงสรวงสักการะ ซึ่งตรงกับวันตามปฎิทินจันทรคติ คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 1) ทำให้ในวันนี้ของทุกปี เป็นวันไหว้หลวงพ่อปู่ ซึ่งในอดีตเรียกว่า วันแซยิดหลวงพ่อปู่

ตามความเชื่อในอดีต จะมีการจุดประทัด ถวายหลวงพ่อปู่ ของชาวประมง ก่อนออกเรือกหาปลา รวมถึงในปัจจุบัน พ่อค้าแม่ขาย และผู้ศรัทธาที่มาไหว้ สักการะขอพร นอกจากนี้คนในพื้นที่ จะบีบแตรยานพาหนะ หากมีการสัญจรผ่านโบสถ์ เพื่อถวายสักการะหลวงพ่อปู่ทุกครั้ง

Wat Krok Krak

Wat Krok Krak

Wat Krok Krak

ที่อยู่ 188 ถนนธรรมคุณากร ตำบลโกรกกราก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร 74000 (188 Thammakhunakorn Road, Krokkrak Subdistrict, Mueang Samut Sakhon District, Samut Sakhon 74000)

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว โทร. 0-2356-0656, 0-2356-0718
  • สายด่วนตำรวจท่องเที่ยว โทร. 1155
  • กรมการท่องเที่ยว โทร. 02-401-1111
  • การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โทร. 1672

ติดต่อสอบถาม +66-3441-1400

website: tourismthailand.org

เวลาทำการ เปิดบริการทุกวัน เวลา 06:00 – 19:00 น.

ค่าเข้าชม ฟรี

การเดินทาง

การเดินทางด้วยรถส่วนตัว ใช้เส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 (ถนนพระรามที่ 2) ผ่านเซ็นทรัลพระราม 2 และเข้าสู่ตัวเมืองจังหวัดสมุทรสาคร และจากตัวเมือง ใช้ทางหลวงหมายเลข 3432 (เส้นทางสมุทรสาคร – โคกขาม) ข้ามคลองมหาชัย แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ ถนนเจษฎาวิถี มุ่งไป ตำบลโกรกกราก (เวลา 15 นาที, 9.1 กม.)

by Google Map

วัดโกรกกราก (Wat Krok Krak)