มาโรนีเอกงวอน (Marronnier Park, 마로니에공원) เป็นสวนสาธารณะที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ ซึ่งในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University, 서울대학교) ของกรุงโซล (Seoul) ซึ่งเป็นเมืองในพื้นที่ ของจังหวัดคยองกี (คยองกีโด, Gyeonggi-do) ในประเทศเกาหลีใต้
หลังจากที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ถูกย้ายไปอยู่ในเขตควันนักกู (Gwanak-gu, 관악구) โดยคงเหลือไว้บางส่วน ซึ่งปัจจุบันคือ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University Hospital, 서울대학교병원) ในปี ค.ศ. 1975 รัฐบาลดำเนินการสร้าง สวนสาธารณะมาโรนีเอ (Marronnier Park) และมีองค์กรศิลปวัฒนธรรมมากมาย ที่เกี่ยวข้องกับละคร, ภาพยนตร์, คอนเสิร์ต, ละครเพลง และยังเป็นถนนซึ่งศิลปิน สามารถจัดการแสดงของตัวเองได้อย่างอิสระ ที่สวนสาธารณะแห่งนี้
โดยชื่อเรียกของสวนแห่งนี้ ถูกเรียกตามชื่อของ ต้นเกาลัดม้า (Marronnier) ซึ่งมีอยู่ทั่วบริเวณของสวน นอกเหนือไปจากความร่มรื่นของพรรณไม้ ที่สวนแห่งนี้ยังมีผลงานประติมากรรมที่สวยงาม และมีโรงละครและพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ในย่านถนนวัฒนธรรมแทฮักโร (Theaters and Art Museum around Daehak-ro Culture Street) อีกหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีเวทีและลานกลางแจ้ง สำหรับศิลปินอิสระ ในการแสดงทางศิลปะ และวัฒนธรรมต่างๆ มากมาย เช่น การแสดงคอนเสิร์ตกลางแจ้ง, การแสดงละคร และอื่น ๆ จนได้ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “สวรรค์สำหรับคนหนุ่มสาว”
อีกหนึ่งสัญลักษณ์อันโดดเด่น ในระหว่างทางเดินเท้า จากสถานีรถไฟใต้ดินฮเยฮวา (Hyehwa Station) เพื่อมายังสวนแห่งนี้ คุณจะพบกับรูปปั้นของกวีรพินทรนาถฐากูร
รูปปั้นของกวีรพินทรนาถฐากูร
Statue of Rabindranath Tagore กวีรพินทรนาถฐากูร (Rabindranath Tagore, 라빈드라나트 타고르; ค.ศ. 1861 – 1941) กวีชาวอินเดียซึ่งเป็นคนเอเชียคนแรก ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ในปี ค.ศ. 1913 จากผลงานบทประพันธ์คีตาญชลี (Gitanjali) ซึ่งเป็นบทกวีนิพนธ์ ที่เขียนอุทิศให้แก่ภรรยา และบุตร 3 ใน 5 คน ที่เสียชีวิตไป ซึ่งถูกนำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะรวบรวมนำมาตีพิมพ์เป็นเล่ม นอกจากนี้เขายังเป็นหนึ่งในบุคคล ที่มีชื่อเสียงทางศิลปะ, ด้านดนตรี, โรงละคร และวรรณกรรม ซึ่งเขาเป็นผู้แต่งเพลงชาติ ของประเทศอินเดีย และประเทศบังคลาเทศ และยังเป็นเพื่อนสนิทของมหาตมะคานธี (Mahatma Gandhi, 마하트마 간디; ค.ศ. 1869 – 1948) ซึ่งเป็นผู้นำและนักการเมือง ที่มีชื่อเสียงชาวอินเดียและศาสนาฮินดู
ในปี ค.ศ. 2006 รูปปั้นแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นและติดตั้งในย่านถนนวัฒนธรรมแทฮักโร (Daehak-ro Culture Street, 대학로) ของกรุงโซล (Seoul) เพื่อการเจริญสัมพันธไมตรี และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ระหว่างประเทศเกาหลี และประเทศอินเดีย ชาวเกาหลี ให้ความนับถือกวีท่านนี้เป็นพิเศษ สำหรับผลงานบทกวีที่มีชื่อว่า “แสงสว่างในทิศตะวันออก (Lantern of the East)” บทกวีซึ่งเขียนเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1929 เพื่อแสดงความรักอย่างลึกซึ้ง ต่ออาณาจักรโชซอนในช่วงยุคอาณานิคมญี่ปุ่น และบรรยายถึงความประทับใจ ที่มีต่อขบวนการอิสรภาพ 1 มีนาคม ปี ค.ศ. 1919
ในขณะที่ประเทศอินเดีย ได้สร้างห้องเกาหลี (Korean Chamber) ตั้งอยู่ภายในของ พิพิธภัณฑ์บ้านฐากูร (Tagore House Museum) เพื่อจัดแสดงเกี่ยวกับบทกวีดังกล่าว และจัดแสดงเกี่ยวกับพัฒนาการของประเทศเกาหลีใต้ ภายหลังจากได้รับการปลดปล่อย จากการปกครองของญี่ปุ่น ในยุคอาณานิคม รวมไปถึงนิทรรศการเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ระหว่างทั้งสองประเทศอีกด้วย
ถนนวัฒนธรรมแทฮักโร (Daehak-ro Culture Street)
นอกจากนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อีกมากมายหลายแห่งซึ่งอยู่ใกล้สวนสาธารณะแห่งนี้ และอยู่บนถนนวัฒนธรรมแทฮักโร (Daehak-ro) ถนนแห่งนี้มีความหมายของชื่อคือ “ถนนมหาวิทยาลัย” และมันถูกกำหนดให้เป็น ถนนวัฒนธรรม (Culture Street) เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1985 ถนนแห่งนี้ยังเต็มไปด้วยร้านค้า ที่ทำให้คุณสามารถเพลิดเพลินไปกับการช้อปปิ้ง หรือคุณสามารถเลือกนั่งชิลตามร้านคาเฟ่กาแฟ ที่ได้รับการตกแต่งอย่างน่ารักสวยงาม รวมไปถึงร้านอาหารเกาหลี, ร้านชาแบบเกาหลี ดั้งเดิม และร้านอาหารนานาชาติ ก็มีให้คุณเลือกชิมได้ หลากหลายร้านตามความสนใจของคุณอีกด้วย อ่านเพิ่มเติม
ที่อยู่ 104 Daehak-ro, Ihwa-dong, Jongno-gu, Seoul, South Korea (서울특별시 종로구 이화동 대학로 104)
ข้อมูลเพิ่มเติม
สายด่วนการท่องเที่ยว 1330: + 82-2-1330 (เกาหลี, อังกฤษ, ญี่ปุ่น, จีน, รัสเซีย, เวียดนาม, ไทย, มาเลย์)
ข้อมูลเพิ่มเติม +82 2-2148-1114
เวลาทำการ เปิดบริการทุกวัน 24 ชั่วโมง
ค่าเข้าชม ฟรี
การเดินทาง
Hyehwa Station (혜화역, ฮเยฮวาหยอก, Seoul Subway Line 4), และออกทางออกที่ 2 จากนั้นเดินตรงไปตามถนนแทฮักโร (Daehak-ro, 대학로) ระยะทางประมาณ 50 เมตร สวนสาธารณะอยู่ทางซ้ายมือของคุณ
by Google Map